โทรได้ 24 ชม. 02-185-1444

บทความสุขภาพ

สเกต

การเตรียมตัวก่อนเล่นสเกตบอร์ด

กีฬาที่กำลังมาแรงในขณะนี้คงหนี้ไม่พ้น สเก็ตบอร์ด ซึ่งไม่ว่าจะเป็นช่วงอายุไหนก็สามารถเล่นได้  สเก็ตบอร์ด เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1950   ในแถบแคลิฟอรเนีย เกิดจากดัดแปลงของนักเล่นเซิร์ฟ  จนปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สวยงามและง่ายต่อการเล่น

  • ความพร้อมของผู้เล่น

ผู้เล่นต้องมีทักษะในการทรงตัวถ่ายเทน้ำหนักและสามารถประคองตัวระหว่างการเล่นสเกตบอร์ด  และที่สำคัญคือทักษะความรู้ในการเล่นอย่างถูกต้อง การล้มอย่างถูกต้อง  รวมถึงการสวมอุปกรณ์ป้องกันตัว หากเกิดการล้ม การกระแทก หรือการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการเล่น  ซึ่งอาจทำให้ความรุนแรงจากการบาดเจ็บนั้นๆ อาจน้อยลงได้

  • อุปกรณ์ป้องกัน 

หมวกกันกระแทก  สนับข้อศอก-หัวเข่า-มือ   ซึ่งผู้เล่นควรเลือกตามขนาดที่เหมาะสมกับตัวเอง  โดยเฉพาะหมวกกันกระแทก เพราะช่วยลดความรุนแรงจากการบาดเจ็บจากศรีษะได้

messageImage_1616662565192

  • สถานที่ และสเกตบอร์ด

เป็นสิ่งที่จำเป็นมากเนื่องจากเป็นการเล่นที่ต้องใช้บริเวณพื้นที่โล่งและจะต้องเลือกขนาดสเกตบอร์ดที่เหมาะสมกับผู้เล่น   ในขณะที่เล่นหากเลือกสถานที่ที่ไม่เหมาะสมอาจจะทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้เล่นได้  ควรหลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยงที่ก่อให้เกิดอันตราย เช่น บริเวณที่มีการสัญจรของรถยนต์ หรือ ผู้คนสัญจรไปมา

ปัจจุบันมีสถานที่สาธารณะหลายแห่งที่เปิดให้เล่นได้  ผู้เล่นสามารถค้นหาข้อมูลได้จากสื่อต่างๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงได้  เช่น สวนรถไฟ (สวนวชิรเบญทัศ), สนามกีฬาแห่งชาติ, BTS วงเวียนใหญ่

  • การบาดเจ็บ

การบาดเจ็บการเล่นสเกตบอร์ด  แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ  ดังนี้

  1. การบาดเจ็บเล็กน้อย (Minor injury) เช่น อาการบาดเจ็บฟกช้ำ ถลอกภายนอกเล็กน้อย เคล็ดขัดยอก ตามแขนขา
  2. การบาดเจ็บที่รุนแรง (Major injury) เช่น
    1. การบาดเจ็บที่ศีรษะ อาจมีอันตรายต่อกะโหลกศีรษะและสมองได้
    2. การผิดรูปของแขนขา อาจกระดูกอาจหัก หรือ ข้อต่อเคลื่อน
    3. การบาดเจ็บอวัยวะภายในช่องท้องและช่องอก อาจมีอาการฟกช้ำ หรือปวดผิดปกติ อาจมีภาวะการบาดเจ็บที่รุนแรงเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เช่น ม้ามฉีก ตับแตก ปอดแตกมีเลือดหรือลมรั่ว

*ซึ่งแน่นอนว่าอาการในกลุ่มที่รุนแรงควรรีบนำส่งโรงพยาบาลหรือพบแพทย์ทันที

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อมีอาการบาดเจ็บอาจให้หลักการรักษา P-RICE

P : Protection : หาอุปกรณ์ที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการบาดเจ็บเพิ่มเติม  เพื่อลดการขยับบริเวณที่บาดเจ็บ หากบริเวณที่บาดเจ็บผิดรูปไม่ควรขยับหรือดัดด้วยตนเอง อาจทำให้มีการบาดเจ็บมากยิ่งขึ้น

R : Rest : ควรหยุดกิจกรรมทันทีเพื่อประเมินความรุนแรง ไม่ควรฝืนเล่นต่อเพราะอาจทำให้บาดเจ็บมากยิ่งขึ้น

I : Ice : ในช่วง 48 ชั่วโมงแรกหลังจากบาดเจ็บควรประคบด้วยความเย็นทันที เพื่อบรรเทาอาการปวดและลดอาการบวมบริเวณที่บาดเจ็บ

C : Compression : อาจจะพันด้วย Elastic bandage(EB)หรือวัสดุช่วยเหลือที่หาได้พันบริเวณที่บาดเจ็บและลดอาการบวม   ทั้งนี้สามารถประคบเย็นไปพร้อมๆกันโดยให้เหนืออุปกรณ์ที่ใช้พันรอบบริเวณที่บาดเจ็บ

E : Elevation : ในขณะนอนราบควรยกบริเวณที่บาดเจ็บเช่น แขน หรือ ขา ให้สูงกว่าระดับหัวใจเพื่อลดอาการบวม

ทั้งนี้หากในกลุ่มที่มีการบาดเจ็บเล็กน้อยแล้วทำการปฐมพยาบาลในเบื้องต้น ผู้ป่วยยังมีอาการปวด บวมผิดปกติ หรือยังมีความกังวลใจ แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ประเมินอาการและให้การรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

นพ.รัฐภูมิ วัชโรภาส   ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ (Orthopedics)

แก้ไข12

มะเร็งปากมดลูก

ตรวจสุขภาพ ฉีดวัคซีน HPV และการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก  เรื่องสำคัญที่ผู้หญิงตัองรู้ !

ปัจจุบัน ชีวิตของผู้หญิงหลายคนโดยเฉพาะที่อยู่ในวัยทำงานมักหลีกเลี่ยงความเคร่งเครียดและการแข่งขันไปไม่พ้น แต่อีกด้านหนึ่ง สาวๆ หลายคนก็ใส่ใจสุขภาพอย่างจริงจังมากขึ้นในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน การออกกำลังกาย รวมถึงการดูแลสุขภาพจิตใจแต่แม้จะใส่ใจดูแลตัวเองขนาดนั้นแล้วก็อาจยังไม่ครอบคลุมครบถ้วน เท่ากับการตรวจคัดกรองหรือตรวจสุขภาพประจำปี   เนื่องจากมีโรคหลายโรคที่เบื้องต้นไม่มีอาการแสดงใดๆ เลย จะพบได้ก็จากการตรวจสุขภาพเท่านั้น

รู้ทันร่างกายด้วยการตรวจสุขภาพ

แม้ร่างกายจะยังไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่คุณก็ควรตรวจสุขภาพสักปีละ 1 ครั้ง เพื่อประเมินความเสี่ยงของหลายโรคที่อาจแฝงอยู่ในร่างกาย ซึ่งบางโรคก็อาจแสดงอาการเมื่ออยู่ในขั้นรุนแรงแล้ว  ยิ่งรู้เร็ว  ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้ และค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคระยะเริ่มต้นก็น้อยกว่าค่ารักษาโรคระยะท้ายๆ หรือระยะลุกลามด้วย

สำหรับผู้หญิง สามารถเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป ซึ่งควรเลือกโปรแกรมตรวจสุขภาพที่เหมาะสมตามช่วงอายุร่วมกับการตรวจเพิ่มเติม เพราะแต่ละช่วงอายุมีความเสี่ยงในการเกิดโรคแตกต่างกัน เช่น ​อายุ 30 ปีขึ้นไปหรือเคยมีเพศสัมพันธ์​ ควรตรวจภายในและตรวจคัดกรองมะเร็ง​ปากมดลูก อายุ 40 ปี​ขึ้นไปควรตรวจมะเร็งเต้านมแบบแมมโมแกรม (Mammogram) และตรวจตาโดยจักษุแพทย์ อายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ    อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่อายุยังไม่ถึง 30 ปีก็สามารถตรวจได้เช่นกัน โดยแพทย์แนะนำว่า ควรตรวจระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด สำหรับคัดกรองโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs หรือ non-communicable diseases) เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ตับแข็ง ไตเรื้อรัง อ้วน และโรคมะเร็ง

หากตรวจเร็วกว่าที่แพทย์แนะนำอาจทำให้ตรวจพบอาการผิดปกติทั้งที่ไม่ได้เป็นได้ เช่น การตรวจแมมโมแกรมในผู้หญิงอายุน้อย เป็นวัยที่เนื้อเต้านมค่อนข้างหนา ทำให้มองเห็นได้ไม่ชัดเจน เป็นต้น หรือหากมีความกังวลใดเป็นกรณีพิเศษ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตรวจ เพื่อจะได้รับการตรวจที่ครอบคลุมความเสี่ยงของโรคมากที่สุด

โรคมะเร็ง ภัยเงียบที่ควรระวัง

จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ โรคมะเร็ง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ในประเทศไทยมากว่า 20 ปี ในโปรแกรมตรวจสุขภาพจึงมักรวมถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งด้วย ถือเป็นด่านแรกที่จะช่วยให้ประเมินความเสี่ยงและเตรียมพร้อมรับมือได้ทันท่วงทีโรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงมีหลายชนิด โดยเฉพาะโรคมะเร็งปากมดลูก ที่อาจไม่แสดงอาการใดจนกระทั่งล่วงเลยเข้าสู่ระยะรุนแรงแล้ว ซึ่งเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงตั้งแต่อายุ 25 ปีเป็นต้นไป

เมื่อมะเร็งปากมดลูกมักไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น จึงจำเป็นต้องรับการตรวจทุกปี หรือหากมีอาการผิดปกติ เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอดและตกขาวผิดปกติก็ควรรีบพบแพทย์ สำหรับการตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นการตรวจภายในที่ใช้เวลาเพียง 1-2 นาที สามารถทราบผลได้ภายใน 1-2 สัปดาห์

โดยทั่วไปจะไม่มีความเจ็บปวดในระหว่างการตรวจ หากผู้รับการตรวจผ่อนคลายและทำตามคำแนะนำของแพทย์ แต่หากเกร็งหรือไม่ให้ความร่วมมือ การตรวจอาจยากขึ้นและทำให้เจ็บได้ และอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดได้บ้างเล็กน้อยหลังตรวจภายใน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ    อย่างไรก็ตาม ถ้าตรวจภายในแล้วมีเลือดออกมาก ควรปรึกษาแพทย์อีกครั้งเพื่อหาสาเหตุ

มะเร็งปากมดลูกมักพบในคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์หรือเคยผ่านการมีบุตรมาแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นในคนที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์หรือห่างหายการมีเพศสัมพันธ์มานาน ขึ้นอยู่กับการติดเชื้อ HPV ของแต่ละคน  ดังนั้นผู้หญิงทุกคนจึงควรตรวจมะเร็งปากมดลูก โดยเฉพาะเมื่ออายุเกิน 30 ปี

วัคซีน HPV ลดความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก 

เชื้อไวรัส HPV เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ สามารถติดต่อได้ทั้งทางเพศสัมพันธ์ การสัมผัสเชื้อทางบาดแผลตามร่างกาย    และการแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูกขณะคลอด   ดังนั้นต่อให้ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนก็มีโอกาสติดเชื้อ HPV ได้เช่นกัน  สำหรับการฉีดวัคซีน HPV มีทั้งหมด 3 เข็ม จะฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่โดยไม่จำเป็นต้องตรวจภายในก่อนฉีด ถึงอย่างนั้น ในผู้หญิงที่อายุ 25 ปีขึ้นไป   แพทย์ก็ยังแนะนำให้ตรวจภายในควบคู่ไปด้วย และสามารถฉีดได้ทุกคนเว้นแต่ผู้ที่เสี่ยงแพ้ยา กำลังตั้งครรภ์ หรือมีอาการป่วย ติดเชื้อ ควรปรึกษาแพทย์หรือเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อน

ไม่เพียงแค่ผู้หญิงเท่านั้นที่สามารถติดเชื้อ HPV ผู้ชายเองก็มีโอกาสติดเชื้อได้ และจะส่งผลให้เกิดมะเร็งที่อวัยวะเพศ   ทวารหนัก   มะเร็งบริเวณปากและลำคอ   รวมถึงหูดหงอนไก่ได้ด้วย ทั้งผู้หญิงและผู้ชายจึงควรฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ไว้   โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีน HPV  ทั้งในผู้หญิง และผู้ชายทุกคนตั้งแต่อายุ  9-26  ปี  และยังสามารถฉีดัคซีนได้จนถึงอายุ  45  ปี

หากสนใจโปรแกรมตรวจสุขภาพ ตรวจมะเร็งสำหรับผู้หญิง และฉีดวัคซีน HPV ของโรงพยาบาลคามิลเลียนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ แผนกสูติ-นรีเวช โทรศัพท์ 0-2185-1444 ต่อ 135   วันจันทร์-ศุกร์ 07.00-20.00 น. และ วันเสาร์-อาทิตย์ 07.00 – 19.00 น.

ให้ความรู้โดย :  นพ. ชรินทร์ วิทย์พิบูลย์รัตน์ (แพทย์เฉพาะทางสาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา)

อ.ชริน

ขนาดบทความสุขภาพ ตรวจสุขภาพ

โปรแกรมตรวจสุขภาพ เลือกอย่างไรให้เหมาะกับเรา?

แนะนำหลักการเลือกโปรแกรมตรวจสุขภาพโดยแพทย์ เพื่อคัดกรองความผิดปกติก่อนเกิดโรคอย่างเหมาะสมกับวัยและช่วงอายุ

คนเราควรเริ่มตรวจสุขภาพตั้งแต่อายุเท่าไหร่ และควรตรวจบ่อยแค่ไหน?

แนะนำเริ่มตรวจทั้งหญิง​และ​ชาย​อายุ 30 ปี​ขึ้นไป และตรวจประจำทุกปี​ แต่ในคนที่อายุต่ำกว่า 30 ปี ก็สามารถตรวจได้​ และแนะนำให้ตรวจระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด เพื่อคัดกรองโรค NCD หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

เลือกโปรแกรมตรวจสุขภาพอย่างไรดี ให้เหมาะกับตนเอง?

การเลือกโปรแกรมตรวจสุขภาพ ควรตามอายุ ร่วมกับตรวจเพิ่มเติม​ เช่น

  • ในผู้หญิง​อายุ 30 ปีขึ้นไปหรือเคยมีเพศสัมพันธ์​ แนะนำตรวจภายในและตรวจคัดกรองมะเร็ง​ปากมดลูก
  • ในผู้หญิงอายุ 40 ปี​ขึ้นไปหรือเสริมเต้านม แนะนำตรวจแมมโมแกรม (Mammogram)
  • ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป​ แนะนำตรวจมะเร็ง​ต่อมลูกหมาก
  • ทั้งหญิง​และ​ชาย​อายุ 40 ปีขึ้นไป แนะนำ​ตรวจตาโดยจักษุแพทย์
  • ทั้งหญิงและชายอายุ 50 ปีขึ้นไป แนะนำ​ตรวจหาเลือดในอุจจาระ

ทั้งนี้การเลือกโปรแกรมตรวจสุขภาพยังขึ้นอยู่กับประวัติเดิม ประวัติครอบครัว และอาการผิดปกติที่มีของแต่ละคนด้วย

จำเป็นต้องเลือกตรวจสุขภาพตามช่วงอายุจริงๆ ของตัวเองหรือไม่?

จำเป็น เนื่องจากความเสี่ยงในการเกิดโรคตามช่วงอายุแตกต่างกัน​ เช่น เมื่ออายุมากขึ้น ก็มีความเสี่ยงจะเกิดโรคมะเร็ง​ โรคหัวใจและหลอดเลือด​ มากขึ้น จึงแนะนำทั้งหญิง​และ​ชาย​ที่อายุมากกว่า 50 ปี​ตรวจหาเลือดในอุจจาระ​

กรณีที่​ตรวจเร็วกว่าที่แนะนำ​ เช่น​ การตรวจแมมโมแกรมในหญิงอายุน้อย​ เนื้อเต้านมหนาอยู่​ อาจทำให้เอกซเรย์แล้วเห็นภาพไม่ชัดเจน นำไปสู่ผลบวกลวง (ตรวจพบอาการผิดปกติ แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นอะไร) ได้

ให้ความรู้โดย : พญ. วรัญญา รัตนจำรูญ แพทย์ประจำ แผนกตรวจสุขภาพ

อ.วรัญญา

ไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่พบมากในช่วงหน้าฝน เป็นโรคระบาดที่พบเป็นอันดับต้นๆในประเทศไทย อาการมีตั้งแต่ไข้สูงปวดเมื่อยตามตัว ปวดกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ไปจนถึงอาการรุนแรง เช่น เลือดออกในลำไส้ ช็อกอาจไปจนถึงเสียชีวิต

โรคไข้เลือดออกสามารถติดต่อได้ทางยุงลาย โดยต้องโดนยุงลายที่มีเชื้อไข้เลือดออกกัด ดังนั้นการป้องกันคือไม่ให้ยุงกัดและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในที่อยู่อาศัย

วิธีการดูแลเบื้องต้น คือดูแลภาวะไข้สูง เช็ดตัว ลดไข้ ทานยาลดไข้ทุก 4-6 ชั่วโมง พยายามดื่มน้ำเปล่าสะอาดมากๆ หากอาการยังไม่ดีขึ้นไข้ยังไม่ลดลงให้รีบไปพบแพทย์

อาการเตือนที่รุนแรงในโรคไข้เลือดออก มีดังต่อไปนี้

  • อาเจียนมากทานอาหารไม่ได้
  • ไข้ลดแต่อาการไม่ดีขึ้น
  • มีอาการปวดท้องมาก
  • มีอาการกระสับกระส่าย/ท่าทางเปลี่ยนแปลงกระทันหัน
  • มีเลือดออก เช่น เลือดกำเดา ประจำเดือนมาน้อย
  • มีอาการเวียนศีรษะ
  • ปัสสาวะออกน้อยลง

วัคซีนไข้เลือดออกเป็นวัคซีนใหม่ โดยฉีดด้วยกันทั้งหมด 3 เข็ม “0,6,12 เดือน…” สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป คำแนะนำหากคนที่จะฉีดวัคซีนไข้เลือดออกควรเข้ารับการปรึกษากับแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

ให้ความรู้โดย : พญ.ดวงรัตน์ ฐาปนพาหะ (กุมารเวชศาสตร์)

อ.ดวงรัตน์