บทความสุขภาพ
การเตรียมตัวก่อนเล่นสเกตบอร์ด
กีฬาที่กำลังมาแรงในขณะนี้คงหนี้ไม่พ้น สเก็ตบอร์ด ซึ่งไม่ว่าจะเป็นช่วงอายุไหนก็สามารถเล่นได้ สเก็ตบอร์ด เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1950 ในแถบแคลิฟอรเนีย เกิดจากดัดแปลงของนักเล่นเซิร์ฟ จนปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สวยงามและง่ายต่อการเล่น
- ความพร้อมของผู้เล่น
ผู้เล่นต้องมีทักษะในการทรงตัวถ่ายเทน้ำหนักและสามารถประคองตัวระหว่างการเล่นสเกตบอร์ด และที่สำคัญคือทักษะความรู้ในการเล่นอย่างถูกต้อง การล้มอย่างถูกต้อง รวมถึงการสวมอุปกรณ์ป้องกันตัว หากเกิดการล้ม การกระแทก หรือการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการเล่น ซึ่งอาจทำให้ความรุนแรงจากการบาดเจ็บนั้นๆ อาจน้อยลงได้
- อุปกรณ์ป้องกัน
หมวกกันกระแทก สนับข้อศอก-หัวเข่า-มือ ซึ่งผู้เล่นควรเลือกตามขนาดที่เหมาะสมกับตัวเอง โดยเฉพาะหมวกกันกระแทก เพราะช่วยลดความรุนแรงจากการบาดเจ็บจากศรีษะได้
- สถานที่ และสเกตบอร์ด
เป็นสิ่งที่จำเป็นมากเนื่องจากเป็นการเล่นที่ต้องใช้บริเวณพื้นที่โล่งและจะต้องเลือกขนาดสเกตบอร์ดที่เหมาะสมกับผู้เล่น ในขณะที่เล่นหากเลือกสถานที่ที่ไม่เหมาะสมอาจจะทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้เล่นได้ ควรหลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยงที่ก่อให้เกิดอันตราย เช่น บริเวณที่มีการสัญจรของรถยนต์ หรือ ผู้คนสัญจรไปมา
ปัจจุบันมีสถานที่สาธารณะหลายแห่งที่เปิดให้เล่นได้ ผู้เล่นสามารถค้นหาข้อมูลได้จากสื่อต่างๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงได้ เช่น สวนรถไฟ (สวนวชิรเบญทัศ), สนามกีฬาแห่งชาติ, BTS วงเวียนใหญ่
- การบาดเจ็บ
การบาดเจ็บการเล่นสเกตบอร์ด แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
- การบาดเจ็บเล็กน้อย (Minor injury) เช่น อาการบาดเจ็บฟกช้ำ ถลอกภายนอกเล็กน้อย เคล็ดขัดยอก ตามแขนขา
- การบาดเจ็บที่รุนแรง (Major injury) เช่น
- การบาดเจ็บที่ศีรษะ อาจมีอันตรายต่อกะโหลกศีรษะและสมองได้
- การผิดรูปของแขนขา อาจกระดูกอาจหัก หรือ ข้อต่อเคลื่อน
- การบาดเจ็บอวัยวะภายในช่องท้องและช่องอก อาจมีอาการฟกช้ำ หรือปวดผิดปกติ อาจมีภาวะการบาดเจ็บที่รุนแรงเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เช่น ม้ามฉีก ตับแตก ปอดแตกมีเลือดหรือลมรั่ว
*ซึ่งแน่นอนว่าอาการในกลุ่มที่รุนแรงควรรีบนำส่งโรงพยาบาลหรือพบแพทย์ทันที
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อมีอาการบาดเจ็บอาจให้หลักการรักษา P-RICE
P : Protection : หาอุปกรณ์ที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการบาดเจ็บเพิ่มเติม เพื่อลดการขยับบริเวณที่บาดเจ็บ หากบริเวณที่บาดเจ็บผิดรูปไม่ควรขยับหรือดัดด้วยตนเอง อาจทำให้มีการบาดเจ็บมากยิ่งขึ้น
R : Rest : ควรหยุดกิจกรรมทันทีเพื่อประเมินความรุนแรง ไม่ควรฝืนเล่นต่อเพราะอาจทำให้บาดเจ็บมากยิ่งขึ้น
I : Ice : ในช่วง 48 ชั่วโมงแรกหลังจากบาดเจ็บควรประคบด้วยความเย็นทันที เพื่อบรรเทาอาการปวดและลดอาการบวมบริเวณที่บาดเจ็บ
C : Compression : อาจจะพันด้วย Elastic bandage(EB)หรือวัสดุช่วยเหลือที่หาได้พันบริเวณที่บาดเจ็บและลดอาการบวม ทั้งนี้สามารถประคบเย็นไปพร้อมๆกันโดยให้เหนืออุปกรณ์ที่ใช้พันรอบบริเวณที่บาดเจ็บ
E : Elevation : ในขณะนอนราบควรยกบริเวณที่บาดเจ็บเช่น แขน หรือ ขา ให้สูงกว่าระดับหัวใจเพื่อลดอาการบวม
ทั้งนี้หากในกลุ่มที่มีการบาดเจ็บเล็กน้อยแล้วทำการปฐมพยาบาลในเบื้องต้น ผู้ป่วยยังมีอาการปวด บวมผิดปกติ หรือยังมีความกังวลใจ แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ประเมินอาการและให้การรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
นพ.รัฐภูมิ วัชโรภาส ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ (Orthopedics)
ตรวจสุขภาพ ฉีดวัคซีน HPV และการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เรื่องสำคัญที่ผู้หญิงตัองรู้ !
ปัจจุบัน ชีวิตของผู้หญิงหลายคนโดยเฉพาะที่อยู่ในวัยทำงานมักหลีกเลี่ยงความเคร่งเครียดและการแข่งขันไปไม่พ้น แต่อีกด้านหนึ่ง สาวๆ หลายคนก็ใส่ใจสุขภาพอย่างจริงจังมากขึ้นในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน การออกกำลังกาย รวมถึงการดูแลสุขภาพจิตใจแต่แม้จะใส่ใจดูแลตัวเองขนาดนั้นแล้วก็อาจยังไม่ครอบคลุมครบถ้วน เท่ากับการตรวจคัดกรองหรือตรวจสุขภาพประจำปี เนื่องจากมีโรคหลายโรคที่เบื้องต้นไม่มีอาการแสดงใดๆ เลย จะพบได้ก็จากการตรวจสุขภาพเท่านั้น
รู้ทันร่างกายด้วยการตรวจสุขภาพ
แม้ร่างกายจะยังไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่คุณก็ควรตรวจสุขภาพสักปีละ 1 ครั้ง เพื่อประเมินความเสี่ยงของหลายโรคที่อาจแฝงอยู่ในร่างกาย ซึ่งบางโรคก็อาจแสดงอาการเมื่ออยู่ในขั้นรุนแรงแล้ว ยิ่งรู้เร็ว ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้ และค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคระยะเริ่มต้นก็น้อยกว่าค่ารักษาโรคระยะท้ายๆ หรือระยะลุกลามด้วย
สำหรับผู้หญิง สามารถเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป ซึ่งควรเลือกโปรแกรมตรวจสุขภาพที่เหมาะสมตามช่วงอายุร่วมกับการตรวจเพิ่มเติม เพราะแต่ละช่วงอายุมีความเสี่ยงในการเกิดโรคแตกต่างกัน เช่น อายุ 30 ปีขึ้นไปหรือเคยมีเพศสัมพันธ์ ควรตรวจภายในและตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก อายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจมะเร็งเต้านมแบบแมมโมแกรม (Mammogram) และตรวจตาโดยจักษุแพทย์ อายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่อายุยังไม่ถึง 30 ปีก็สามารถตรวจได้เช่นกัน โดยแพทย์แนะนำว่า ควรตรวจระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด สำหรับคัดกรองโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs หรือ non-communicable diseases) เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ตับแข็ง ไตเรื้อรัง อ้วน และโรคมะเร็ง
หากตรวจเร็วกว่าที่แพทย์แนะนำอาจทำให้ตรวจพบอาการผิดปกติทั้งที่ไม่ได้เป็นได้ เช่น การตรวจแมมโมแกรมในผู้หญิงอายุน้อย เป็นวัยที่เนื้อเต้านมค่อนข้างหนา ทำให้มองเห็นได้ไม่ชัดเจน เป็นต้น หรือหากมีความกังวลใดเป็นกรณีพิเศษ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตรวจ เพื่อจะได้รับการตรวจที่ครอบคลุมความเสี่ยงของโรคมากที่สุด
โรคมะเร็ง ภัยเงียบที่ควรระวัง
จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ โรคมะเร็ง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ในประเทศไทยมากว่า 20 ปี ในโปรแกรมตรวจสุขภาพจึงมักรวมถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งด้วย ถือเป็นด่านแรกที่จะช่วยให้ประเมินความเสี่ยงและเตรียมพร้อมรับมือได้ทันท่วงทีโรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงมีหลายชนิด โดยเฉพาะโรคมะเร็งปากมดลูก ที่อาจไม่แสดงอาการใดจนกระทั่งล่วงเลยเข้าสู่ระยะรุนแรงแล้ว ซึ่งเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงตั้งแต่อายุ 25 ปีเป็นต้นไป
เมื่อมะเร็งปากมดลูกมักไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น จึงจำเป็นต้องรับการตรวจทุกปี หรือหากมีอาการผิดปกติ เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอดและตกขาวผิดปกติก็ควรรีบพบแพทย์ สำหรับการตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นการตรวจภายในที่ใช้เวลาเพียง 1-2 นาที สามารถทราบผลได้ภายใน 1-2 สัปดาห์
โดยทั่วไปจะไม่มีความเจ็บปวดในระหว่างการตรวจ หากผู้รับการตรวจผ่อนคลายและทำตามคำแนะนำของแพทย์ แต่หากเกร็งหรือไม่ให้ความร่วมมือ การตรวจอาจยากขึ้นและทำให้เจ็บได้ และอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดได้บ้างเล็กน้อยหลังตรวจภายใน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตาม ถ้าตรวจภายในแล้วมีเลือดออกมาก ควรปรึกษาแพทย์อีกครั้งเพื่อหาสาเหตุ
มะเร็งปากมดลูกมักพบในคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์หรือเคยผ่านการมีบุตรมาแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นในคนที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์หรือห่างหายการมีเพศสัมพันธ์มานาน ขึ้นอยู่กับการติดเชื้อ HPV ของแต่ละคน ดังนั้นผู้หญิงทุกคนจึงควรตรวจมะเร็งปากมดลูก โดยเฉพาะเมื่ออายุเกิน 30 ปี
วัคซีน HPV ลดความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก
เชื้อไวรัส HPV เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ สามารถติดต่อได้ทั้งทางเพศสัมพันธ์ การสัมผัสเชื้อทางบาดแผลตามร่างกาย และการแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูกขณะคลอด ดังนั้นต่อให้ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนก็มีโอกาสติดเชื้อ HPV ได้เช่นกัน สำหรับการฉีดวัคซีน HPV มีทั้งหมด 3 เข็ม จะฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่โดยไม่จำเป็นต้องตรวจภายในก่อนฉีด ถึงอย่างนั้น ในผู้หญิงที่อายุ 25 ปีขึ้นไป แพทย์ก็ยังแนะนำให้ตรวจภายในควบคู่ไปด้วย และสามารถฉีดได้ทุกคนเว้นแต่ผู้ที่เสี่ยงแพ้ยา กำลังตั้งครรภ์ หรือมีอาการป่วย ติดเชื้อ ควรปรึกษาแพทย์หรือเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อน
ไม่เพียงแค่ผู้หญิงเท่านั้นที่สามารถติดเชื้อ HPV ผู้ชายเองก็มีโอกาสติดเชื้อได้ และจะส่งผลให้เกิดมะเร็งที่อวัยวะเพศ ทวารหนัก มะเร็งบริเวณปากและลำคอ รวมถึงหูดหงอนไก่ได้ด้วย ทั้งผู้หญิงและผู้ชายจึงควรฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ไว้ โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีน HPV ทั้งในผู้หญิง และผู้ชายทุกคนตั้งแต่อายุ 9-26 ปี และยังสามารถฉีดัคซีนได้จนถึงอายุ 45 ปี
หากสนใจโปรแกรมตรวจสุขภาพ ตรวจมะเร็งสำหรับผู้หญิง และฉีดวัคซีน HPV ของโรงพยาบาลคามิลเลียนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ แผนกสูติ-นรีเวช โทรศัพท์ 0-2185-1444 ต่อ 135 วันจันทร์-ศุกร์ 07.00-20.00 น. และ วันเสาร์-อาทิตย์ 07.00 – 19.00 น.
ให้ความรู้โดย : นพ. ชรินทร์ วิทย์พิบูลย์รัตน์ (แพทย์เฉพาะทางสาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา)
โปรแกรมตรวจสุขภาพ เลือกอย่างไรให้เหมาะกับเรา?
แนะนำหลักการเลือกโปรแกรมตรวจสุขภาพโดยแพทย์ เพื่อคัดกรองความผิดปกติก่อนเกิดโรคอย่างเหมาะสมกับวัยและช่วงอายุ
คนเราควรเริ่มตรวจสุขภาพตั้งแต่อายุเท่าไหร่ และควรตรวจบ่อยแค่ไหน?
แนะนำเริ่มตรวจทั้งหญิงและชายอายุ 30 ปีขึ้นไป และตรวจประจำทุกปี แต่ในคนที่อายุต่ำกว่า 30 ปี ก็สามารถตรวจได้ และแนะนำให้ตรวจระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด เพื่อคัดกรองโรค NCD หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
เลือกโปรแกรมตรวจสุขภาพอย่างไรดี ให้เหมาะกับตนเอง?
การเลือกโปรแกรมตรวจสุขภาพ ควรตามอายุ ร่วมกับตรวจเพิ่มเติม เช่น
- ในผู้หญิงอายุ 30 ปีขึ้นไปหรือเคยมีเพศสัมพันธ์ แนะนำตรวจภายในและตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
- ในผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไปหรือเสริมเต้านม แนะนำตรวจแมมโมแกรม (Mammogram)
- ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป แนะนำตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก
- ทั้งหญิงและชายอายุ 40 ปีขึ้นไป แนะนำตรวจตาโดยจักษุแพทย์
- ทั้งหญิงและชายอายุ 50 ปีขึ้นไป แนะนำตรวจหาเลือดในอุจจาระ
ทั้งนี้การเลือกโปรแกรมตรวจสุขภาพยังขึ้นอยู่กับประวัติเดิม ประวัติครอบครัว และอาการผิดปกติที่มีของแต่ละคนด้วย
จำเป็นต้องเลือกตรวจสุขภาพตามช่วงอายุจริงๆ ของตัวเองหรือไม่?
จำเป็น เนื่องจากความเสี่ยงในการเกิดโรคตามช่วงอายุแตกต่างกัน เช่น เมื่ออายุมากขึ้น ก็มีความเสี่ยงจะเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด มากขึ้น จึงแนะนำทั้งหญิงและชายที่อายุมากกว่า 50 ปีตรวจหาเลือดในอุจจาระ
กรณีที่ตรวจเร็วกว่าที่แนะนำ เช่น การตรวจแมมโมแกรมในหญิงอายุน้อย เนื้อเต้านมหนาอยู่ อาจทำให้เอกซเรย์แล้วเห็นภาพไม่ชัดเจน นำไปสู่ผลบวกลวง (ตรวจพบอาการผิดปกติ แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นอะไร) ได้
ให้ความรู้โดย : พญ. วรัญญา รัตนจำรูญ แพทย์ประจำ แผนกตรวจสุขภาพ
โรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่พบมากในช่วงหน้าฝน เป็นโรคระบาดที่พบเป็นอันดับต้นๆในประเทศไทย อาการมีตั้งแต่ไข้สูงปวดเมื่อยตามตัว ปวดกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ไปจนถึงอาการรุนแรง เช่น เลือดออกในลำไส้ ช็อกอาจไปจนถึงเสียชีวิต
โรคไข้เลือดออกสามารถติดต่อได้ทางยุงลาย โดยต้องโดนยุงลายที่มีเชื้อไข้เลือดออกกัด ดังนั้นการป้องกันคือไม่ให้ยุงกัดและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในที่อยู่อาศัย
วิธีการดูแลเบื้องต้น คือดูแลภาวะไข้สูง เช็ดตัว ลดไข้ ทานยาลดไข้ทุก 4-6 ชั่วโมง พยายามดื่มน้ำเปล่าสะอาดมากๆ หากอาการยังไม่ดีขึ้นไข้ยังไม่ลดลงให้รีบไปพบแพทย์
อาการเตือนที่รุนแรงในโรคไข้เลือดออก มีดังต่อไปนี้
- อาเจียนมากทานอาหารไม่ได้
- ไข้ลดแต่อาการไม่ดีขึ้น
- มีอาการปวดท้องมาก
- มีอาการกระสับกระส่าย/ท่าทางเปลี่ยนแปลงกระทันหัน
- มีเลือดออก เช่น เลือดกำเดา ประจำเดือนมาน้อย
- มีอาการเวียนศีรษะ
- ปัสสาวะออกน้อยลง
วัคซีนไข้เลือดออกเป็นวัคซีนใหม่ โดยฉีดด้วยกันทั้งหมด 3 เข็ม “0,6,12 เดือน…” สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป คำแนะนำหากคนที่จะฉีดวัคซีนไข้เลือดออกควรเข้ารับการปรึกษากับแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนไข้เลือดออก
ให้ความรู้โดย : พญ.ดวงรัตน์ ฐาปนพาหะ (กุมารเวชศาสตร์)