โทรได้ 24 ชม. 02-185-1444

“ต้อลม ต้อเนื้อ” สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

แสงแดดเป็นสิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเขตเส้นศูนย์สูตรอย่างประเทศไทย โรคต้อเนื้อ (Pterygium) และ โรคต้อลม (Pinguecula) เป็นภาวะเสื่อมของเยื่อบุตาขาว (Conjunctiva) ที่พบได้บ่อย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) เป็นระยะเวลานานจนทำให้เกิดความเสื่อมของเยื่อบุตาขาว จึงมักพบในคนที่มีชีวิตประจำวันกลางแจ้งและในเขตเส้นศูนย์สูตร ทั้ง 2 โรคส่วนใหญ่ไม่อันตรายถึงขั้นทำให้ตาบอด แต่อาจทำให้ระคายเคือง หรืออักเสบซ้ำๆในตาข้างที่มีต้อได้ หากเป็นเพียงแค่ก้อนที่เหลืองบริเวณเยื่อบุตาขาว เรียกว่า ต้อลม (Pinguecula) แต่หากเป็นก้อนเนื้อสีชมพู/ส้ม ที่มีเส้นเลือดเข้าสู่กระจกตาดำ (Cornea) เรียกว่า ต้อเนื้อ สามารถพบได้ทั้งสองข้างของกระจกตาดำ โดยมักพบบ่อยทางด้านหัวตาใกล้จมูก

อาการ
  • ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค หากเป็นไม่เยอะมาก อาจไม่มีอาการ หรือ เคืองตาเล็กน้อยในระยะแรก อาจมีตาแดงเป็นๆหายๆเนื่องจากมีการอับเสบซ้ำๆ ส่วนใหญ่ระยะเริ่มต้นการมองเห็นมักจะปกติ
  • หากมีก้อนเข้าไปที่กระจกตาดำขนาดใหญ่ หรืออักเสบเรื้อรัง สามารถทำให้เกิดสายตาเอียง (Astigmatism) หรือบดบังรูม่านตาได้ แนะนำให้ตรวจกับจักษุแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคลุกลามมากขึ้น หรืออาจแนะนำให้ผ่าตัดในรายที่จำเป็น
การรักษา
  • ในระยะเริ่มต้น แนะนำให้ทำการป้องการไม่ให้โรคลุกลามมากขึ้น อันเป็นสาเหตุให้การมองเห็นลดลง หรือ มีการอักเสบมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น ได้แก่ การสวมแว่นกันแดดที่สามารถกรองรังสีอัลตราไวโอเลตหรือสวมหมวก หรือ สวมแว่นกันลม หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงได้ เช่น เวลาทำงานกลางแจ้งหรือออกแดด การนั่งรถจักรยานยนต์
  • น้ำตาเทียม สามารถช่วยบรรเทาให้อาการระคายเคืองดีขึ้นได้ แต่อาจไม่ช่วยลดอาการแดงหรือการลุกลามของโรค
  • หากมีอาการตาแดงเป็นๆหายๆ อาจมีภาวะอักเสบของเยื่อบุตาขาว แนะนำให้มาตรวจกับจักษุแพทย์เพื่อประเมินและรักษาไม่ให้เป็นซ้ำ
  • เมื่อต้อเนื้อลุกลามเข้าไปถึงกระจกตาดำ แนะนำให้หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นอย่างเคร่งครัด อาจแนะนำให้ผ่าตัดในรายที่จำเป็น เนื่องจากสามารถเกิดซ้ำได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่มีกิจวัตรประจำวันกลางแจ้งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้และคนอายุน้อย
  • หากท่านประสบปัญหาดังกล่าว และรบกวนกับการใช้ขีวิตประจำวัน แนะนำปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านโรคตา เพื่อปรึกษาและทำการรักษาต่อไป  

นายแพทย์พีรณัฐ โชติค้ำวงศ์ จักษุวิทยา (Ophthalmology)

Uncategorized