ปัจจุบัน ชีวิตของผู้หญิงหลายคนโดยเฉพาะที่อยู่ในวัยทำงานมักหลีกเลี่ยงความเคร่งเครียดและการแข่งขันไปไม่พ้น แต่อีกด้านหนึ่ง สาวๆ หลายคนก็ใส่ใจสุขภาพอย่างจริงจังมากขึ้นในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน การออกกำลังกาย รวมถึงการดูแลสุขภาพจิตใจแต่แม้จะใส่ใจดูแลตัวเองขนาดนั้นแล้วก็อาจยังไม่ครอบคลุมครบถ้วน เท่ากับการตรวจคัดกรองหรือตรวจสุขภาพประจำปี เนื่องจากมีโรคหลายโรคที่เบื้องต้นไม่มีอาการแสดงใดๆ เลย จะพบได้ก็จากการตรวจสุขภาพเท่านั้น
แม้ร่างกายจะยังไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่คุณก็ควรตรวจสุขภาพสักปีละ 1 ครั้ง เพื่อประเมินความเสี่ยงของหลายโรคที่อาจแฝงอยู่ในร่างกาย ซึ่งบางโรคก็อาจแสดงอาการเมื่ออยู่ในขั้นรุนแรงแล้ว ยิ่งรู้เร็ว ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้ และค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคระยะเริ่มต้นก็น้อยกว่าค่ารักษาโรคระยะท้ายๆ หรือระยะลุกลามด้วย
สำหรับผู้หญิง สามารถเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป ซึ่งควรเลือกโปรแกรมตรวจสุขภาพที่เหมาะสมตามช่วงอายุร่วมกับการตรวจเพิ่มเติม เพราะแต่ละช่วงอายุมีความเสี่ยงในการเกิดโรคแตกต่างกัน เช่น อายุ 30 ปีขึ้นไปหรือเคยมีเพศสัมพันธ์ ควรตรวจภายในและตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก อายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจมะเร็งเต้านมแบบแมมโมแกรม (Mammogram) และตรวจตาโดยจักษุแพทย์ อายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่อายุยังไม่ถึง 30 ปีก็สามารถตรวจได้เช่นกัน โดยแพทย์แนะนำว่า ควรตรวจระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด สำหรับคัดกรองโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs หรือ non-communicable diseases) เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ตับแข็ง ไตเรื้อรัง อ้วน และโรคมะเร็ง
หากตรวจเร็วกว่าที่แพทย์แนะนำอาจทำให้ตรวจพบอาการผิดปกติทั้งที่ไม่ได้เป็นได้ เช่น การตรวจแมมโมแกรมในผู้หญิงอายุน้อย เป็นวัยที่เนื้อเต้านมค่อนข้างหนา ทำให้มองเห็นได้ไม่ชัดเจน เป็นต้น หรือหากมีความกังวลใดเป็นกรณีพิเศษ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตรวจ เพื่อจะได้รับการตรวจที่ครอบคลุมความเสี่ยงของโรคมากที่สุด
จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ โรคมะเร็ง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ในประเทศไทยมากว่า 20 ปี ในโปรแกรมตรวจสุขภาพจึงมักรวมถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งด้วย ถือเป็นด่านแรกที่จะช่วยให้ประเมินความเสี่ยงและเตรียมพร้อมรับมือได้ทันท่วงทีโรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงมีหลายชนิด โดยเฉพาะโรคมะเร็งปากมดลูก ที่อาจไม่แสดงอาการใดจนกระทั่งล่วงเลยเข้าสู่ระยะรุนแรงแล้ว ซึ่งเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงตั้งแต่อายุ 25 ปีเป็นต้นไป
เมื่อมะเร็งปากมดลูกมักไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น จึงจำเป็นต้องรับการตรวจทุกปี หรือหากมีอาการผิดปกติ เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอดและตกขาวผิดปกติก็ควรรีบพบแพทย์ สำหรับการตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นการตรวจภายในที่ใช้เวลาเพียง 1-2 นาที สามารถทราบผลได้ภายใน 1-2 สัปดาห์
โดยทั่วไปจะไม่มีความเจ็บปวดในระหว่างการตรวจ หากผู้รับการตรวจผ่อนคลายและทำตามคำแนะนำของแพทย์ แต่หากเกร็งหรือไม่ให้ความร่วมมือ การตรวจอาจยากขึ้นและทำให้เจ็บได้ และอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดได้บ้างเล็กน้อยหลังตรวจภายใน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตาม ถ้าตรวจภายในแล้วมีเลือดออกมาก ควรปรึกษาแพทย์อีกครั้งเพื่อหาสาเหตุ
มะเร็งปากมดลูกมักพบในคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์หรือเคยผ่านการมีบุตรมาแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นในคนที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์หรือห่างหายการมีเพศสัมพันธ์มานาน ขึ้นอยู่กับการติดเชื้อ HPV ของแต่ละคน ดังนั้นผู้หญิงทุกคนจึงควรตรวจมะเร็งปากมดลูก โดยเฉพาะเมื่ออายุเกิน 30 ปี
เชื้อไวรัส HPV เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ สามารถติดต่อได้ทั้งทางเพศสัมพันธ์ การสัมผัสเชื้อทางบาดแผลตามร่างกาย และการแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูกขณะคลอด ดังนั้นต่อให้ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนก็มีโอกาสติดเชื้อ HPV ได้เช่นกัน สำหรับการฉีดวัคซีน HPV มีทั้งหมด 3 เข็ม จะฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่โดยไม่จำเป็นต้องตรวจภายในก่อนฉีด ถึงอย่างนั้น ในผู้หญิงที่อายุ 25 ปีขึ้นไป แพทย์ก็ยังแนะนำให้ตรวจภายในควบคู่ไปด้วย และสามารถฉีดได้ทุกคนเว้นแต่ผู้ที่เสี่ยงแพ้ยา กำลังตั้งครรภ์ หรือมีอาการป่วย ติดเชื้อ ควรปรึกษาแพทย์หรือเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อน
ไม่เพียงแค่ผู้หญิงเท่านั้นที่สามารถติดเชื้อ HPV ผู้ชายเองก็มีโอกาสติดเชื้อได้ และจะส่งผลให้เกิดมะเร็งที่อวัยวะเพศ ทวารหนัก มะเร็งบริเวณปากและลำคอ รวมถึงหูดหงอนไก่ได้ด้วย ทั้งผู้หญิงและผู้ชายจึงควรฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ไว้ โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีน HPV ทั้งในผู้หญิง และผู้ชายทุกคนตั้งแต่อายุ 9-26 ปี และยังสามารถฉีดัคซีนได้จนถึงอายุ 45 ปี
หากสนใจโปรแกรมตรวจสุขภาพ ตรวจมะเร็งสำหรับผู้หญิง และฉีดวัคซีน HPV ของโรงพยาบาลคามิลเลียนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ แผนกสูติ-นรีเวช โทรศัพท์ 0-2185-1444 ต่อ 135 วันจันทร์-ศุกร์ 07.00-20.00 น. และ วันเสาร์-อาทิตย์ 07.00 – 19.00 น.
ให้ความรู้โดย : นพ. ชรินทร์ วิทย์พิบูลย์รัตน์ (แพทย์เฉพาะทางสาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา)