โทรได้ 24 ชม. 02-185-1444

ไวรัส RSV ภัยร้ายใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

RSV  (Respiratory Syncytial Virus)
คือไวรัสที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินหายใจ โดยแพร่กระจายผ่านทางการไอหรือจาม พบมากในเด็กทารกและเด็กเล็ก อาการมีได้ตั้งแต่เป็นไข้หวัดธรรมดา จนถึงหลอดลมอักเสบ หรือปอดบวม และแม้จะรักษาหายดีแล้วก็สามารถกลับเป็นใหม่ได้อีก มักระบาดมากช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว  แม้จะเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก แต่ผู้ใหญ่ก็สามารถติดเชื้อได้เช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้ เมื่อติดเชื้อแล้ว มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรง เช่นปอดอักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ หรือภาวะหัวใจวายเฉียบพลันทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งในปัจจุบัน ยังไม่มียาที่รักษาโรคติดเชื้อจากไวรัสนี้โดยเฉพาะ ดังนั้น การป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ

การป้องกันการติดเชื้อ
เช่นเดียวกับการป้องกันการติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจทั่วไป ได้แก่

  • หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
  • ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อไปโรงพยาบาลหรือสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน
  • หากในบ้านมีคนป่วย ควรแยกตัว และงดใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน
  • เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง โดยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุก และมีประโยชน์  ออกกำลังกายสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ฉีดวัคซีนป้องกัน โดยปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อจากไวรัส RSV  ซึ่งผลของวัคซีนจะช่วยทำให้ลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยรุนแรงจากการติดเชื้อได้

ประโยชน์ของวัคซีนป้องกัน RSV

  • ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ RSV
  • ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนและลดความรุนแรงจากการติดเชื้อRSV เช่นภาวะปอดบวม หลอดลมฝอยอักเสบ วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคทางเดินหายใจส่วนล่างที่เกิดจากเชื้อ RSV ได้ถึง 94.6%
  • ลดอัตราการเสียชีวิตจาก RSV โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงสูง

ใครควรได้รับวัคซีนป้องกัน RSV : แนะนำฉีดวัคซีน 1 เข็ม ฉีดเข้ากล้ามสำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
ผู้ที่มีอายุระหว่าง 50-59 ปี ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการมีอาการรุนแรงหากได้รับเชื้อ RSV ได้แก่

  • ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง
  • ผู้ป่วยโรคอ้วน
  • ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่นปอดอุดกันเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง หรือหอบหืด
  • ผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อน
  • ผู้ป่วยที่มีโรคตับ หรือโรคไตเรื้อรัง
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่นผู้ป่วยติดเชื้อเฮชไอวี และผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด

อาการข้างเคียงที่พบได้หลังจากการฉีดวัคซีน อาการที่พบได้บ่อย เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามตัว ปวดศีรษะ ไข้ อ่อนเพลีย โดยส่วนใหญ่อาการจะมีเพียงเล็กน้อย และหายไปภายใน 2-3 วัน

ให้ความรู้โดย :   แพทย์หญิงวัจนา ลีละพัฒนะ (แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัว)

บทความสุขภาพ