โทรได้ 24 ชม. 02-185-1444

โรคไส้เลื่อนเป็นแล้วต้องรักษา

ไส้เลื่อน คือ ภาวะที่ลำไส้ไหลออกมานอกช่องท้องผ่านทางรูที่ผนังหน้าท้อง ตำแหน่งที่พบมากที่สุดคือ บริเวณขาหนีบ ตำแหน่งอื่นๆ เช่น สะดือ, รอยแผลผ่าตัดช่องท้อง

อาการ : มีก้อนนูนขึ้นใต้ผิวหนังบริเวณที่ไส้เลื่อนออกมา เห็นได้ชัดเจนเวลายืน เดิน การเพิ่มแรงดันในช่องท้อง เช่น ไอ จาม เบ่ง ยกของหนัก ทำให้ก้อนนูนออกมากขึ้น เวลานอนหรือกดที่ก้อนจะยุบเข้าไป บางครั้งไส้ที่เลื่อนออกมาไม่สามารถดันกลับได้ ทำให้มีอาการปวดจากลำไส้ขาดเลือด นำไปสู่ภาวะลำไส้เน่าทะลุได้ จำเป็นต้องผ่าตัดเร่งด่วน

การวินิจฉัย : ส่วนใหญ่จะสามารถวินิจฉัยโรคได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยศัลยแพทย์ที่เชี่ยวชาญ ถ้าผลการตรวจไม่แน่ชัดอาจส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น อัลตร้าซาวน์ เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์

การรักษา : ปัจจุบันการรักษาให้หายขาดต้องผ่าตัดเท่านั้น

  1. การผ่าตัดแบบเปิด เป็นการผ่าตัดเปิดแผลบริเวณขาหนีบลงไปเพื่อตัดเอาถุงไส้เลื่อนออก นำลำไส้ที่ออกมากลับเข้าช่องท้อง(กรณีที่ลำไส้ติดค้างในถุงไส้เลื่อน) และซ่อมแซมผนังหน้าท้องที่เป็นรูหรืออ่อนแอ ปัจจุบันมักใช้วัสดุช่วยเสริมความแข็งแรงของผนังหน้าท้องเพื่อลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ ข้อดีคือ เป็นวิธีมาตรฐานที่ทำได้ไม่ยาก ไม่มีอุปกรณ์ที่ราคาสูงทำให้ค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก
  2. การผ่าตัดแบบส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดโดยใช้ชุดอุปกรณ์เฉพาะ เข้าไปเอาถุงไส้เลื่อนออกและปิดรูที่ผนังหน้าท้องโดยใช้วัสดุช่วยเสริมความแข็งแรง ข้อดีคือ แผลเล็ก เจ็บแผลน้อยกว่า ฟื้นตัวได้เร็วกว่า แต่ก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และต้องการศัลยแพทย์ที่ชำนาญด้านการผ่าตัดส่องกล้อง

นพ.พันธิตร ถาดี (แพทย์เฉพาะทางศัลยกรรม)

บทความสุขภาพ