โทรได้ 24 ชม. 02-185-1444

โรคมะเร็ง โรคยอดฮิตที่ไม่ควรมองข้าม

โรคมะเร็ง โรคยอดฮิต ติดอันดับการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทยและประชากรทั่วโลก

โรคมะเร็งสามารถแบ่งคร่าวๆ ได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด เช่น ลูคีเมีย (leukemia) และ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองหรือลิ้มโฟม่า (lymphoma)
  2. มะเร็งที่เกิดจากเนื้อเยื่อของอวัยวะต่าง ๆ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งหูคอจมูก มะเร็งลำไส้ มะเร็งปากมดลูก
  3. โรคมะเร็งเกิดจากเซลล์มะเร็ง ซึ่งก็คือ เซลล์ร่างกายที่มีการกลายพันธุ์อย่างรุนแรง ทำให้เซลล์ดังกล่าวมีความสามารถในการขยายจำนวนที่มากขึ้นจนร่างกายควบคุมไม่ได้ กลายเกิดก้อนเนื้อหรือก้อนทูม ซึ่งก้อนดังกล่าวจะกดเบียดอวัยวะที่อยู่เริ่มต้นและอวัยวะข้างเคียง ทำให้มีอาการผิดปกติต่างๆ นอกจากนี้เซลล์มะเร็งยังมีความสามารถในการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆที่อยู่ไกลออกไป โดยเล็ดลอดจากอวัยวะตั้งต้น ผ่านไปตามหลอดเลือดหรือหลอดน้ำเหลืองได้

สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด คือ ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าสาเหตุใดเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เซลล์ปกติของร่างกายเกิดการกลายพันธุ์ จนร่างกายควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์ดังกล่าวไม่ได้ แต่จากข้อมูลทางการแพทย์ต่างๆ ทำให้เราสามารถทราบถึง “ปัจจัยเสี่ยง” ที่เพิ่มโอกาสในการเกิดโรคมะเร็ง ตัวอย่างเช่น

  1. ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของ มะเร็งเต้านม คือ การมีประวัติมะเร็งเต้านมของสมาชิกในครอบครัวมาก่อน, การได้
    รับฮอร์โมนเพศหญิงเป็นเวลานานๆ หรือผู้หญิงที่ไม่เคยผ่านการตั้งครรภ์มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม
    มากกว่าผู้หญิงที่เคยตั้งครรภ์/ มีบุตรมาก่อน
  2. ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของ มะเร็งปอด คือ การสูบบุหรี่, การสัมผัสสารก่อมะเร็งปอดเป็นระยะเวลานาน ซึ่งได้แก่สารแอสเบสตอส
  3. ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของ มะเร็งตับ คือ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีแบบเรื้อรัง, การได้รับสารอัลฟ่าท๊อกซินเป็นเวลานาน เหล่านี้เป็นต้น

เนื่องจากสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ดังนั้น

  1. การลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญในการหลีกเลี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง เช่น ผู้หญิงหลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมนเพศหญิงหากไม่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน
  2. การไม่สูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการรับควันบุหรี่ เนื่องจากสารพิษในบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดมะเร็งปอด รวมไปถึงมะเร็งอีกหลายชนิด เช่น มะเร็งหู-คอ-จมูก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะปัสสาวะเป็นต้น
  3. หากมีประวัติมะเร็งของสมาชิกในครอบครัว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการตรวจคัดกรองมะเร็งบางชนิด
  4. สำหรับผู้ที่ไม่มีความเสี่ยงในเรื่องประวัติมะเร็งในครอบครัว ควรรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งปัจจุบันโรคมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ มะเร็งปากมดลูก ล้วนมีคำแนะนำในการตรวจคัดกรองที่เป็นมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกยอมรับ และได้รับการบรรจุอยู่ในโปรแกรมการตรวจร่างกายประจำปีของผู้ชาย / ผู้หญิงวัยต่าง ๆ

ข้อควรปฏิบัติเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง

  1. ตั้งสติ รับฟังข้อมูลจากแพทย์อย่างตั้งใจว่า เป็นมะเร็งของอวัยวะใด ระยะใด เนื่องจากการรักษาโรคมะเร็งมีความแตกต่างกันสำหรับมะเร็งในแต่ละอวัยวะ และแม้จะเป็นมะเร็งของอวัยวะเดียวกันแต่ถ้าเป็นคนละระยะการรักษาก็จะแตกต่างกัน
  2. เตรียมตัวดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อให้พร้อมรับการรักษา เนื่องจาก การรักษาหลักของโรคมะเร็ง ประกอบด้วย การผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก การฉายแสง การให้ยาเคมีบำบัด การให้ยามุ่งเป้า ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการรักษาที่มีผลข้างเคียง ดังนั้นก่อนเริ่มรักษาควรเตรียมความพร้อมของร่างกาย เปรียบเสมือนนักกีฬาที่ต้องเตรียมพร้อมลงสนามแข่งนั่นเอง
  3. เตรียมใจ ทั้งผู้ป่วยและผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยในระหว่างการรักษา ซึ่งได้แก่ การเตรียมตัว เตรียมใจรับมือกับผลข้างเคียงจากการรักษา ค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งทางตรงและทางอ้อม การปรับตัวกับสภาพร่างกายที่เปลี่ยนไป ความกังวลในเรื่องอื่นๆ เช่น ความสามารถในการทำงาน ภาระทางบ้าน ดังนั้น คนในครอบครัวและคนใกล้ชิดจึงควรได้รับข้อมูลด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยไปพร้อม ๆ กับผู้ป่วยด้วย

ให้ความรู้โดย : แพทย์หญิงเพ็ญสุภา รวีเลิศ (แพทย์เฉพาะทางอายุรกรรมโรคมะเร็ง)

บทความสุขภาพ