โทรได้ 24 ชม. 02-185-1444

การเตรียมตัวก่อนเล่นสเกตบอร์ด

กีฬาที่กำลังมาแรงในขณะนี้คงหนี้ไม่พ้น สเก็ตบอร์ด ซึ่งไม่ว่าจะเป็นช่วงอายุไหนก็สามารถเล่นได้ สเก็ตบอร์ด เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1950 ในแถบแคลิฟอรเนีย เกิดจากดัดแปลงของนักเล่นเซิร์ฟ จนปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สวยงามและง่ายต่อการเล่น

  • ความพร้อมของผู้เล่น

ผู้เล่นต้องมีทักษะในการทรงตัวถ่ายเทน้ำหนักและสามารถประคองตัวระหว่างการเล่นสเกตบอร์ด และที่สำคัญคือทักษะความรู้ในการเล่นอย่างถูกต้อง การล้มอย่างถูกต้อง รวมถึงการสวมอุปกรณ์ป้องกันตัว หากเกิดการล้ม การกระแทก หรือการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการเล่น ซึ่งอาจทำให้ความรุนแรงจากการบาดเจ็บนั้นๆ อาจน้อยลงได้

  • อุปกรณ์ป้องกัน 

หมวกกันกระแทก สนับข้อศอก-หัวเข่า-มือ ซึ่งผู้เล่นควรเลือกตามขนาดที่เหมาะสมกับตัวเอง โดยเฉพาะหมวกกันกระแทก เพราะช่วยลดความรุนแรงจากการบาดเจ็บจากศรีษะได้

  • สถานที่ และสเกตบอร์ด

เป็นสิ่งที่จำเป็นมากเนื่องจากเป็นการเล่นที่ต้องใช้บริเวณพื้นที่โล่งและจะต้องเลือกขนาดสเกตบอร์ดที่เหมาะสมกับผู้เล่น   ในขณะที่เล่นหากเลือกสถานที่ที่ไม่เหมาะสมอาจจะทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้เล่นได้  ควรหลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยงที่ก่อให้เกิดอันตราย เช่น บริเวณที่มีการสัญจรของรถยนต์ หรือ ผู้คนสัญจรไปมา

ปัจจุบันมีสถานที่สาธารณะหลายแห่งที่เปิดให้เล่นได้  ผู้เล่นสามารถค้นหาข้อมูลได้จากสื่อต่างๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงได้  เช่น สวนรถไฟ (สวนวชิรเบญทัศ), สนามกีฬาแห่งชาติ, BTS วงเวียนใหญ่

  • การบาดเจ็บ

การบาดเจ็บการเล่นสเกตบอร์ด แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

  1. การบาดเจ็บเล็กน้อย (Minor injury) เช่น อาการบาดเจ็บฟกช้ำ ถลอกภายนอกเล็กน้อย เคล็ดขัดยอก ตามแขนขา
  2. การบาดเจ็บที่รุนแรง (Major injury) เช่น
    1. การบาดเจ็บที่ศีรษะ อาจมีอันตรายต่อกะโหลกศีรษะและสมองได้
    2. การผิดรูปของแขนขา อาจกระดูกอาจหัก หรือ ข้อต่อเคลื่อน
    3. การบาดเจ็บอวัยวะภายในช่องท้องและช่องอก อาจมีอาการฟกช้ำ หรือปวดผิดปกติ อาจมีภาวะการบาดเจ็บที่รุนแรงเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เช่น ม้ามฉีก ตับแตก ปอดแตกมีเลือดหรือลมรั่ว

*ซึ่งแน่นอนว่าอาการในกลุ่มที่รุนแรงควรรีบนำส่งโรงพยาบาลหรือพบแพทย์ทันที

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อมีอาการบาดเจ็บอาจให้หลักการรักษา P-RICE

P : Protection : หาอุปกรณ์ที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการบาดเจ็บเพิ่มเติม  เพื่อลดการขยับบริเวณที่บาดเจ็บ หากบริเวณที่บาดเจ็บผิดรูปไม่ควรขยับหรือดัดด้วยตนเอง อาจทำให้มีการบาดเจ็บมากยิ่งขึ้น

R : Rest : ควรหยุดกิจกรรมทันทีเพื่อประเมินความรุนแรง ไม่ควรฝืนเล่นต่อเพราะอาจทำให้บาดเจ็บมากยิ่งขึ้น

I : Ice : ในช่วง 48 ชั่วโมงแรกหลังจากบาดเจ็บควรประคบด้วยความเย็นทันที เพื่อบรรเทาอาการปวดและลดอาการบวมบริเวณที่บาดเจ็บ

C : Compression : อาจจะพันด้วย Elastic bandage(EB)หรือวัสดุช่วยเหลือที่หาได้พันบริเวณที่บาดเจ็บและลดอาการบวม   ทั้งนี้สามารถประคบเย็นไปพร้อมๆกันโดยให้เหนืออุปกรณ์ที่ใช้พันรอบบริเวณที่บาดเจ็บ

E : Elevation : ในขณะนอนราบควรยกบริเวณที่บาดเจ็บเช่น แขน หรือ ขา ให้สูงกว่าระดับหัวใจเพื่อลดอาการบวม

ทั้งนี้หากในกลุ่มที่มีการบาดเจ็บเล็กน้อยแล้วทำการปฐมพยาบาลในเบื้องต้น ผู้ป่วยยังมีอาการปวด บวมผิดปกติ หรือยังมีความกังวลใจ แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ประเมินอาการและให้การรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

นพ.รัฐภูมิ วัชโรภาส   ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ (Orthopedics)

บทความสุขภาพ