โทรได้ 24 ชม. 02-185-1444

อาการยอดฮิตออฟฟิศซินโดรม (Myofascial pain syndrome)

Myofascial pain syndrome  คือ กลุ่มอาการปวด และหรือกลุ่มอาการของระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic phenomenon) อันมีสาเหตุมาจากจุดปวดหรือจุดกดเจ็บที่เรียกว่า Trigger point เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อ หรือเยื่อพังผืด ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อและอาการปวดร้าว (Referred Pain) ตามจุดอื่น ๆ ของร่างกายที่อาจจะคาดไม่ถึงได้กลุ่มช่วงอายุที่พบมากที่สุด   27 -50  ปี

สาเหตุหลักของโรคกลุ่มนี้มักเกิดขึ้นจากการที่กล้ามเนื้อมมีการหดตัวซ้ำ ๆ ซึ่งอาจเกิดจากการเคลื่อนไหวซ้ำ ๆระหว่างการงาน งานอดิเรก หรือการหดเกร็งกล้ามเนื้อที่สืบเนื่องมาจากภาวะความเครียด    ถึงแม้ว่าเราจะเคยประสบกับอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่อาการปวดเมื่อยไม่สบายตัวที่เกิดจากอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังสามารถมีอาการคงที่หรืออาจแย่ลงจากการใช้ชีวิตประจำวันได้ ตัวเลือกการรักษานั้นมีหลากหลายวิธี เช่น กายภาพบำบัด การฉีดยาตามจุดกระตุ้น การลงเข็มแห้ง (Dry needling) ยาแก้ปวดและการนวดผ่อนคลายสามารถช่วยได้เช่นกัน

อาการที่พบคือ :

  • ปวดร้าวลึกๆตามบริเวณกล้ามเนื้อ (Deep dull aching)
  • อาการปวดตลอดคงที่หรืออาจแย่ลง
  • ความรู้สึกเหมือนกล้ามเนื้อปวดบิด
  • ปัญหาการนอนเพราะความเจ็บปวด

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์ : อาการปวดกล้ามเนื้อเป็นครั้งคราวนั้นเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าหากคุณมีอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังที่ไม่หายไปเองหลังจากการพักผ่อนเพียงพอ การนวด และผ่านการผ่อนคลายตัวเองในรูปแบบต่างๆควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

สาเหตุ : เกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเนื่องจากการได้รับบาดเจ็บ หรือใช้งานที่มากเกินไปซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดความตึงและเจ็บปวดตามกล้ามเนื้อ โดยถ้าอาการปวดนั้นเรื้อรังหรือแย่ลงจะเรียกว่า Myofascial pain syndrome

ปัจจัยเสี่ยง : ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อจุดกดเจ็บของกล้ามเนื้อ ได้แก่ :

  • การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ – อาการกล้ามเนื้อบาดเจ็บเฉียบพลันหรือภาวะหดเกร็งกล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่องอาจพัฒนาเป็นจุดกดเจ็บได้ ตัวอย่างเช่น จุดที่ได้รับการกระตุ้นจากการเคลื่อนไหวซ้ำๆ และการยืนหรือนั่งผิดท่าเป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงของคุณได้
  • ความเครียดและความวิตกกังวล – คนที่ประสบความเครียดและวิตกกังวลบ่อยครั้งอาจมีแนวโน้มที่จะพัฒนาจุดกดเจ็บได้มากกว่าคนทั่วไป โดยคนเหล่านี้อาจมีแนวโน้มที่จะเกร็งกล้ามเนื้อซ้ำๆทำให้เกิดความตึงในกล้ามเนื้อที่จะพัฒนาเป็นจุดกดเจ็บได้เช่นกัน

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น : ภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังอาจรวมถึง

  • ปัญหาการนอน – อาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังอาจทำให้เกิดปัญหาการนอนในตอนกลางคืนได้ คุณอาจมีปัญหาในการหาท่านอนที่หลับสบาย และหากเคลื่อนไหวไปโดนจุดกระตุ้นในเวลานอนหลับอาจทำให้สะดุ้งตื่นขึ้นกลางดึกได้
  • โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) – อาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังอาจพัฒนาเป็นโรคไฟโบรมัยอัลเจียในคนไข้บางรายได้ โรคไฟโบรมัยอัลเจียนั้นเป็นภาวะเรื้อรังที่ก่อให้เกิดอาการปวดกระจายในหลายตำแหน่งของร่างกาย ซึ่งผลวิจัยเชื่อกันว่าสมองของผู้ที่เป็นป่วยเป็นโรคไฟโบรมัยอัลเจียจะมีความไวต่อความเจ็บปวดมากขึ้นตามเวลา

พญ.ฐิติรัตน์ รักษ์วิทย์ (แพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู)

บทความสุขภาพ